จ.นครพนม ประกอบพิธีเคารพธงชาติน้อมรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณและสร้างความภาคภูมิใจ เนื่องในวันพระราชทานธงชาติไทย

วันที่ 28 กันยายน 2565 ที่บริเวณหน้าศาลาลกลางจังหวัดนครพนม นายชาธิป รุจนเสรี ผู้ว่าราชการจังหวัดนครพนม เป็นประธานนำข้าราชการจังหวัดนครพนม ประกอบพิธีเคารพธงชาติ เนื่องในวันพระราชทานธงชาติไทย เพื่อเป็นการน้อมรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณในพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ที่พระราชทานธงไตรรงค์เป็นธงชาติไทย และสร้างความภาคภูมิใจของคนในชาติ

โดยประเทศไทยมีการใช้ธงชาติมานานนับหลายร้อยปี มีวิวัฒนาการเรื่อยมา ธงชาติไทยผืนแรกเป็นธงพื้นสีแดงเกลี้ยงใช้เป็นสัญลักษณ์ในการติดต่อค้าขายทางเรือกับต่างประเทศเป็นส่วนใหญ่ เริ่มใช้ในสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช แห่งกรุงศรีอยุธยา กระทั่งถึงปี พ.ศ. 2398 ได้เปลี่ยนเป็นธงพื้นแดงมีรูปวงจักรสีขาวตรงกลาง เป็นธงพื้นแดงมีรูปช้างเผือกอยู่ข้างในวงจักรสีขาวตรงกลาง เป็นธงพื้นแดงมีรูปช้างเผือกหันหน้าเข้าหาเสาธงอยู่ตรงกลาง เป็นธงพื้นแดงมีรูปช้างเผือกทรงเครื่องยืนบนแท่นหันหน้าเข้าหาเสาธงอยู่ตรงกลาง เป็นธงแดงขาว 5 ริ้ว และเปลี่ยนเป็นธงไตรรงที่ใช้มาจนถึงปัจจุบันกล่าวได้ว่า ธงชาติไทย ในแต่ละยุคสมัยมีบทบาทสำคัญต่อเหตุการณ์ทางประวัติศาสตร์ในยุคนั้น ๆ ที่คนรุ่นหลังควรศึกษาและเรียนรู้ ด้วยเหตุนี้ รัฐบาลจึงมีมติเห็นชอบกำหนดให้วันที่ 28 กันยายน ของทุกปี เป็น วันพระราชทานธงชาติไทย (Thai National Flag Day) เพื่อระลึกถึงความเป็นมาของธงชาติไทย โดยเริ่มปีแรกในวันที่ 28 กันยายน พ.ศ. 2560

ธงชาติไทย หรือธงไตรรงค์ ในปัจจุบัน เป็นธงสี่เหลี่ยมผืนผ้า กว้าง 6 ส่วน ยาว 9 ส่วน แบ่งด้านยาวออกเป็น 5 แถบ แถบตรงกลางเป็นสีน้ำเงินแก่กว้าง 2 ส่วน ถัดจากแถบสีน้ำเงินแก่ทั้ง 2 ข้าง เป็นสีขาวกว้างข้างละ 1 ส่วน และต่อจากแถบสีขาวทั้ง 2 ข้างเป็นแถบสีแดงกว้างข้างละ 1 ส่วน โดยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 ทรงกำหนดความหมายของสีธงไตรรงค์แบบไม่เป็นทางการในพระราชนิพนธ์ เรื่องเครื่องหมายแห่งไตรรงค์ไว้ว่า สีแดงหมายถึงเลือดอันยอมพลีให้แก่ชาติ สีขาวหมายถึงความบริสุทธิ์แห่งธรรมะอันเป็นหลักคำสอนทางพระพุทธศาสนา สีน้ำเงินหมายถึงสีส่วนพระองค์ขององค์พระมหากษัตริย์ โดยต่อมาพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 โปรดเกล้าฯ ให้มีบันทึกเรื่องธงชาติ โดยให้ยึดเอาธงไตรรงค์เป็นธงชาติไทยตั้งแต่นั้นมาเพื่อจะได้ไม่ต้องเกิดความสับสนกับต่างประเทศ และจะได้ไม่ต้องเปลี่ยนแปลงธงชาติบ่อย ๆ และได้กำหนดความหมายของธงไตรรงค์ให้ชัดเจนแต่ครอบคลุมอุดมการณ์เดิมของรัชกาลที่ 6 เอาไว้ คือ สีแดงหมายถึงชาติ (ประชาชน) สีขาวหมายถึงศาสนา (ไม่ได้เน้นศาสนาใดโดยเฉพาะ) และสีน้ำเงินหมายถึงพระมหากษัตริย์ ซึ่งความหมายนี้ก็ใช้สืบทอดกันมาจนถึงปัจจุบัน


image รูปภาพ
image
image
image
image
image
image
image

Line

คะแนนโหวต :
StarStarStarStarStar