นครพนม เสริมสร้างศักยภาพบุคลากรดูแลผู้สูงอายุที่มีภาวะสมองเสื่อม

วันที่ 1 เมษายน 2564 ที่จังหวัดนครพนม นายแพทย์โกศล วราอัศวปติ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลจิตเวชนครพนมราชนครินทร์ เปิดเผยว่า จากสภาพการณ์ในปัจจุบันที่ประเทศไทยมีประชากรผู้สูงอายุที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วนั้นได้ส่งผลกระทบต่อนโยบายของประเทศและระบบบริการสุขภาพอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เนื่องจากกลุ่มผู้สูงอายุเป็นกลุ่มบุคคลที่มีความเสื่อมลงของสภาพร่างกายตามธรรมชาติ โดยพบว่าเมื่ออายุมากขึ้น ผู้สูงอายุจะมีโอกาสป่วยด้วยโรคสมองเสื่อมเพิ่มมากขึ้น ผู้สูงอายุตั้งแต่ 65 ปีขึ้นไปพบได้ร้อยละ 10 ขณะที่ผู้ที่อายุมากกว่า 85 ปีจะพบได้เกือบร้อยละ 50 ทั้งนี้ผู้สูงอายุที่มีภาวะสมองเสื่อมจะมีปัญหาทางด้านอารมณ์ การรับรู้และพฤติกรรมที่ผิดปกติ ซึ่งร้อยละ 61-92 จะมีอาการก้าวร้าว มีพฤติกรรมการแสดงออกที่วุ่นวาย มีอาการหลงผิด ประสาทหลอน มีอาการซึมเศร้า หลงลืมชอบทะเลาะกับผู้อื่นและมีปัญหาด้านการนอนหลับ ซึ่งพฤติกรรมเหล่านี้จะพบเพิ่มมากขึ้นตามระยะของโรคแบบค่อยเป็นค่อยไป เริ่มจากด้านการรับรู้ การคิด ความจำ การใช้ภาษา การตัดสินใจ การเข้าสังคม และการแสดงออกทางพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสม และเมื่อเข้าสู่ระยะสุดท้ายจะไม่สามารถเคลื่อนไหวร่างกายได้ มีการสูญเสียการรับรู้แบบสมบูรณ์ในที่สุด ดังนั้นเพื่อพัฒนาศักยภาพบุคคลากรสาธารณสุขให้มีประสิทธิภาพสูงสุดในการดูแลและช่วยเหลือผู้สูงอายุที่มีภาวะสมองเสื่อม (Dementia care manager) ให้มีความปลอดภัยและการมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ทั้งยังสามารถขยายผลไปสู่การพัฒนาศักยภาพของผู้ดูแลให้เข้าใจในพฤติกรรมและสามารถดูแลจิตใจผู้สูงอายุที่มีภาวะสมองเสื่อมได้อย่างเหมาะสม โรงพยาบาลจิตเวชนครพนมราชนครินทร์จึงได้จัดโครงการประชุมเชิงปฏิบัติการ การดูแลผู้สูงอายุวัยสมองเสื่อมที่มีปัญหาพฤติกรรมและจิตใจสำหรับบุคลากรด้านสาธารณสุข ในเขตสุขภาพที่ 8 (สกลนคร นครพนม บึงกาฬ) ขึ้น ระหว่างวันที่ 1-2 เมษายน 2564

โดยบุคลากรสาธารณสุขที่เข้าอบรมในครั้งนี้เป็นหน่วยบริการปฐมภูมิและทุติยภูมิ เป็นผู้รับผิดชอบงานผู้สูงอายุ จากสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด โรงพยาบาลศูนย์ โรงพยาบาลทั่วไป และโรงพยาบาลชุมชน ในพื้นที่จังหวัดนครพนม สกลนคร และบึงกาฬ จำนวน 60 คน ซึ่งทุกคนจะได้รับความรู้เกี่ยวกับกลุ่มอาการที่พบบ่อยในผู้สูงอายุ ระบบกล้ามเนื้อ กระดูกและข้อระบบต่อ ระบบทางเดินอาหาร ระบบภูมิคุ้มกัน ระบบหัวใจและหลอดเลือด การเปลี่ยนแปลงของพฤติกรรมอารมณ์และจิตใจในผู้สูงอายุ ภาวะสับสนเฉียบพลัน ภาวะสมองเสื่อม ความชุกของอาการทางประสาทจิตเวชของผู้ป่วยสมองเสื่อม ผลตอบสนองต่อการรักษาอาการ การประเมินภาวะอาการสมองเสื่อม ภาวะสมองเสื่อมที่มีปัญหาพฤติกรรมและจิตใจ ปัจจัยที่มีผลต่อการเกิดปัญหาพฤติกรรมและจิตใจ การสร้างระบบในการดูแลผู้ป่วยโรคสมองเสื่อม ทั้งในแง่การวินิจฉัย การส่งต่อ การดูแลรักษา ตามศักยภาพของโรงพยาบาลในระดับต่างๆ ชนิดของปัญหาพฤติกรรมและอาการทางจิต ทฤษฎีที่เกี่ยวข้องกับภาวะซึมเศร้า ลักษณะเฉพาะของภาวะซึมเศร้าในผู้สูงอายุ การประเมินภาวะซึมเศร้าโดยวิธีการสังเกตด้วยตนเอง  ทัศนคติที่ดีในการดูแลผู้สูงวัยสมองเสื่อม ความสามารถในการปฏิบัติการส่งเสริมสุขภาพของตนเอง ความสามารถด้านการดูแลผู้สูงวัยสมองเสื่อม การเพิ่มทักษะการดูแลกิจวัตรประจำวันขั้นพื้นฐานของผู้สูงวัยสมองเสื่อม และทักษะการสื่อสารกับผู้สูงวัยสมองเสื่อม


image รูปภาพ
image
image
image
image
image
image
image
image

Line

คะแนนโหวต :
StarStarStarStarStar