ศบค.เน้นโรงเรียนคุมเข้มมาตรการสาธารณสุขรับเปิดเทอม 

 

หลังจากเมื่อวันที่ 14 มิ.ย. ที่ผ่านมาได้มีการเปิดเทอมวันแรกพร้อมกันทั้งประเทศ ท่ามกลางความกังวลของผู้ปกครองกรณีที่ต้องมีการรวมกลุ่มกันทำกิจกรรมในสถานศึกษา ขณะที่บางส่วนกังวลเรื่องการเรียนรู้และอยากให้มีการเปิดการเรียนการสอนโดยเร็ว ด้านกระทรวงศึกษาธิการ ตัดสินใจเปิดภาคเรียน ภายใต้มาตรการควบคุมการแพร่ระบาดตามความเหมาะสมของแต่ละพื้นที่

ล่าสุดพญ.อภิสมัย ศรีรังสรรค์ ผู้ช่วยโฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรน่า 2019 (โควิด-19) หรือ ศบค. แถลงว่าในที่ประชุม ศบค. วันนี้ (15 มิ.ย.) ได้ทบทวนถึงการเปิดภาคเรียนวันแรก เมื่อวันที่ 14 มิถุนายนที่ผ่านมา พบว่าผ่านไปด้วยดีแต่ยังต้องเฝ้าระวังอย่างใกล้ชิด โดยครู ผู้ปกครอง และสถานศึกษาได้ให้ความร่วมมือเป็นอย่างดีกับมาตรการที่ ศบค.กำหนด ส่วนพื้นที่ควบคุมสูงสุดสีส้ม สามารถจัดการเรียนการสอนแบบผสมผสานได้ โดยทางจังหวัด จะทำเรื่องขอคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดก่อน เพื่อพิจารณาอนุญาตให้สามารถเปิดการเรียนการสอนแบบ on-site หรือใช้สถานศึกษาพื้นที่เรียนได้ โดยแต่ละพื้นที่สามารถปรับเปลี่ยนได้ตามบริบทของพื้นที่้

และเพื่อให้ผู้ปกครองมีความมั่นใจ กระทรวงศึกษาธิการ ได้มีกระบวนการสำคัญ คือให้สถานศึกษาทุกแห่ง ประเมิน thai stop covid plus ซึ่งเป็นชุดคำถามจัดโดยกรมอนามัยก่อนที่จะเปิดภาคเรียน ซึ่งประกอบด้วยโรงเรียนในสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) 29,000 แห่งทั่วประเทศและโรงเรียนในสังกัดคณะกรรมการการศึกษาเอกชน (สช.) อีกกว่า 5,000 แห่ง ซึ่งพบว่าร้อยละ 99.1 ผ่านการประเมิน ส่วนที่เหลือไม่ใช่สอบไม่ผ่าน แต่เป็นสถานศึกษาระดับมหาวิทยาลัย ที่ขณะนี้ยังไม่เปิดการเรียนการสอนจึงยังไม่มีการประเมินในส่วนนี้ นอกจากนี้กรมควบคุมโรคและกระทรวงศึกษาธิการ ยังเน้นย้ำให้ครู และนักเรียน ผู้ปกครอง ทำ thai save thai เพื่อประเมินตนเองด้วย ซึ่งเป็นการประเมินรายวันก่อนเดินทางมาโรงเรียน ทั้งนี้ได้มีการซักซ้อมแผน เพื่อให้ผู้ปกครอง และสถานศึกษาได้ปฏิบัติอย่างถูกต้อง ส่วนเด็กพิเศษที่เป็นนักเรียนประจำ ยังไม่สามารถเปิดได้อาจต้องมีมาตรการเพิ่มแยกออกไป และต้องมีการตรวจ rapid test เพื่อยืนยันว่าไม่เป็นผู้ติดเชื้อก่อนเข้าไปศึกษาในโรงเรียน อย่างไรก็ตามในภาพรวมของกลุ่มเด็กพิเศษ เด็กพิการ รวมถึง กลุ่มเปราะบาง ที่จะต้องมีการดูแล การสัมผัส เบื้องต้นกำหนด ให้ครูทุกคน และผู้ดูแลจะต้องได้รับวัคซีนให้ครบถ้วนก่อน

สำหรับมาตรการควบคุมการแพร่ระบาดตามความเหมาะสมของแต่ละพื้นที่ ประกอบด้วย พื้นที่สีแดงเข้ม 4 จังหวัด ได้แก่ กรุงเทพฯ นนทบุรี ปทุมธานี และสมุทรปราการ ยังเปิดเรียนแบบปกติไม่ได้และห้ามใช้อาคารสถานที่เพื่อจัดการเรียนการสอน หรือกิจกรรมที่มีการรวมคนจำนวนมาก จึงใช้รูปแบบ ‘เรียนออนไลน์’ หรือ ‘ออนแอร์’ เท่านั้น ส่วนโรงเรียนในพื้นที่ควบคุมสูงสุด หรือ 'พื้นที่สีแดง' มี 17 จังหวัด ได้แก่ กาญจนบุรี, ชลบุรี, ฉะเชิงเทรา, ตาก, นครปฐม, นครศรีธรรมราช, นราธิวาส, ประจวบคีรีขันธ์, พระนครศรีอยุธยา, เพชรบุรี, ยะลา, ระนอง, ระยอง, ราชบุรี, สมุทรสาคร, สงขลา และสุราษฎร์ธานี สามารถเปิดเรียนได้ และเปิดให้ใช้อาคารสถานที่ฯ โดยผ่านความเห็นชอบจากคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัด ส่วนโรงเรียนใน 56 จังหวัดที่เหลือ ซึ่งเป็น 'พื้นที่สีส้ม' เปิดเรียนได้ตามปกติมาตรการของ ศบค.

รมช.ศึกษาฯ เสนอ 5 รูปแบบการเรียนการสอนในช่วงโควิด-19

ด้าน ดร.คุณหญิงกัลยา โสภณพนิช รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ กล่าวถึงการเปิดภาคเรียนปีการศึกษา 2564 ในช่วงที่มีการแพร่ระบาดว่า ได้มีการกำหนดแนวทางไว้ 5 รูปแบบให้แต่ละโรงเรียนนำไปใช้ตามความเหมาะสม ดังนี้

1. On-site เรียนที่โรงเรียน โดยมีมาตรการเฝ้าระวังตามประกาศของศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบค.)

2. On-air เรียนผ่านมูลนิธิการศึกษาทางไกลผ่านดาวเทียม ในพระบรมราชูปถัมภ์ หรือ DLTV

3. On-demand เรียนผ่านแอปพลิเคชันต่างๆ

4. On-line เรียนผ่านอินเทอร์เน็ต

5. On-hand เรียนที่บ้านด้วยเอกสาร เช่น หนังสือ แบบฝึกหัด ใบงาน ในรูปแบบผสมผสาน หรืออาจใช้วิธีอื่นๆ เช่น วิทยุ เป็นต้น เพื่อให้เกิดความยืดหยุ่นตามความเหมาะสมของแต่ละพื้นที่


image รูปภาพ
image

Line

คะแนนโหวต :
StarStarStarStarStar