ผ่อนปรนนำเข้าข้าวโพดเลี้ยงสัตว์แก้ปัญหาต้นทุนผู้เลี้ยงสัตว์ บรรเทา ค่าครองชีพประชาชน

ครม. มีมติเห็นชอบนโยบายผ่อนปรนมาตรการนำเข้าข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ภายใต้โควตาตามข้อตกลงองค์การการค้าโลก (WTO) โดยเปิดให้ผู้นำเข้าทั่วไปเป็นผู้นำเข้าได้ ในอัตราภาษีร้อยละ 0 ไม่เกิน 6 แสนตัน หรือประมาณ ร้อยละ 50 ของความต้องการใช้ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ในประเทศและวัตถุดิบทดแทน เป็นเวลา 3 เดือน (พ.ค.-ก.ค.65) เพื่อลดต้นทุนเกษตรกรผู้เลี้ยงสัตว์ บรรเทาภาระค่าครองชีพประชาชน

ซึ่งข้าวโพดเลี้ยงสัตว์เป็นวัตถุดิบหลักที่นำมาใช้ผลิตอาหารสัตว์นอกเหนือจากรำข้าว ฟางข้าว เศษสับปะรด ปลาป่นและกระดูกป่น โดยปกติประเทศไทยมีความต้องการข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ปีละ 8 ล้านตัน แต่ผลิตได้เพียงปีละ 5 ล้านตัน จึงจำเป็นต้องนำเข้าซึ่งส่วนใหญ่เป็นการนำเข้าจากประเทศเพื่อนบ้านอย่าง เมียนมา กัมพูชา และ สปป.ลาว และจากสถานการณ์รัสเซีย-ยูเครน ซึ่งเป็นประเทศที่ผลิตวัตถุดิบอาหารสัตว์ที่สำคัญของโลก โดยเฉพาะยูเครนที่มีการส่งออกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์เป็นอันดับ 4 ของโลกกว่า 30 ล้านตัน ไม่สามารถผลิตและส่งออกได้ตามปกติ ทำให้ราคาข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ทั่วโลกปรับตัวสูงขึ้น ดังนั้นในช่วงภาวะปกติ รัฐบาลจึงได้มีมาตรการดูแลผู้ปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ คือให้ผู้ประกอบการซื้อข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ในประเทศ 3 ส่วนต่อการนำเข้าข้าวสาลีจากต่างประเทศ 1 ส่วน อีกทั้งยังมีการประกันรายได้ให้เกษตรกรไม่ต่ำกว่า 8.50 บาทต่อกก. และในสถานการณ์ปัจจุบันที่ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ไม่เพียงพอต่อความต้องการ ทำให้ราคาข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ไต่ระดับสูงสุดที่ 12-13 บาทต่อกก. จากราคาเฉลี่ยปกติ 8-9.50 บาทต่อกก. และยังเป็นราคาที่สูงกว่าในตลาดโลก โดยเฉพาะในช่วงเดือน พ.ค.-ก.ค. ที่เป็นช่วงผลผลิตออกสู่ตลาดน้อย ทำให้มีความจำเป็นต้องนำเข้าเพื่อชดเชยส่วนต่าง ระหว่างรอผลผลิตในประเทศที่จะเริ่มออกมาในช่วงสิงหาคมเป็นต้นไป

โดยในช่วง 3 เดือน (พ.ค.-ก.ค.)ที่ผลผลิตข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ในประเทศน้อย มีความจำเป็นต้องนำเข้าจากต่างประเทศมาชดเชย ประมาณ 1.2 ล้านตัน ซึ่งจะช่วยให้ต้นทุนราคาอาหารสัตว์ปรับตัวลดลง เมื่อต้นทุนสำคัญของผู้เลี้ยงลดลง ก็จะทำให้ราคาอาหาร ทั้ง เนื้อหมู เนื้อไก่ และไก่ไข่ในท้องตลาดปรับตัวลดลงตามกลไกด้วย

ซึ่งการนำเข้าวัตถุดิบอาหารสัตว์เป็นมาตรการชั่วคราวเท่านั้น โดยคณะกรรมการนโยบายและบริหารจัดการข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ที่ประกอบไปด้วยส่วนราชการ ผู้แทนสภาเกษตรกร สมาคมผู้ผลิตอาหารสัตว์ และผู้เลี้ยงไก่ไข่ ไก่เนื้อ และสุกร ได้มีมติในการประชุมครั้งที่ 2/2565 ในการแก้ไขปัญหาขาดแคลนวัตถุดิบอาหารสัตว์ ดังนี้

1. ยกเว้นเงื่อนไขที่กำหนดไว้เดิม ว่าการนำเข้าข้าวสาลี 1 ส่วน ต้องซื้อข้าวโพดในประเทศ 3 ส่วน ซึ่งเดิมกำหนดไว้เพื่อรักษาเสถียรภาพข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ในประเทศ แต่ปัจจุบันราคาปรับตัวสูงขึ้นและมีปริมาณไม่เพียงพอ จึงเห็นควรให้ยกเว้นเงื่อนไขดังกล่าวเป็นการชั่วคราว (พ.ค.-ก.ค.65)

2. เพิ่มโควตานำเข้าข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ จากเดิมการนำเข้าต้องผ่านองค์การคลังสินค้า (อคส.) และกำหนดไว้ที่ 54,000 ตัน ซึ่งที่ประชุมได้เพิ่มโควตานำเข้าเป็นไม่เกิน 600,000 ตัน และเปิดให้ผู้นำเข้าทั่วไปสามารถนำเข้าได้ โดยปรับลดภาษีจากร้อยละ 20 เหลือร้อยละ 0 ในช่วง 3 เดือนนี้

3. กระทรวงพาณิชย์จะช่วยจับคู่ธุรกิจ เพื่อส่งเสริมการนำเข้าวัตถุดิบอาหารสัตว์ให้เพียงพอต่อความต้องการในประเทศในช่วง 3 เดือนนี้

ทั้งนี้มาตรการดังกล่าว เป็นเพียงมาตรการชั่วคราวในช่วง 3 เดือน (พ.ค.-ก.ค.65) ในช่วงที่ผลผลิตข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ในประเทศขาดแคลน ซึ่งจะช่วยลดต้นทุนผู้เลี้ยง และช่วยให้ราคาเนื้อสัตว์และไข่ไก่ในท้องตลาดไม่ปรับตัวสูงขึ้นจนเกิดผลกระทบกับผู้บริโภค โดยไม่เกิดผลกระทบกับเกษตรกรผู้ปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ในประเทศ เนื่องจากมีการกำหนดปริมาณนำเข้าวัตถุดิบอาหารสัตว์จากมาตรการดังกล่าวไว้ที่ไม่เกิน 1.2 ล้านตัน และให้ทบทวนมาตรการเพื่อความเหมาะสมได้ตามสถานการณ์

อย่างไรก็ตามนายกรัฐมนตรียังกำชับให้ติดตามเฝ้าระวังการดำเนินการตามมาตรการภาษีนำเข้าข้าวโพดเลี้ยงสัตว์และมาตรการอื่นที่เกี่ยวข้องอย่างใกล้ชิด เพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบต่อเกษตรกรผู้ปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ภายในประเทศ พร้อมให้กระทรวงพาณิชย์และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งทำความตกลงขอความร่วมมือผู้ประกอบการที่ได้สิทธิประโยชน์จากมาตรการในครั้งนี้ ตรึงราคาสินค้าปศุสัตว์ที่จำหน่ายแก่ผู้บริโภคเพื่อบรรเทาผลกระทบต่อค่าครองชีพของพี่น้องประชาชนด้วย


image รูปภาพ
image

Line

คะแนนโหวต :
StarStarStarStarStar