รู้เรื่องภาษีมูลค่าเพิ่ม

ก่อนอื่นต้องเล่าก่อนว่า ภาษีมูลค่าเพิ่ม หรือ VAT เป็นการเก็บภาษีจากการขายสินค้าหรือการให้บริการในแต่ละขั้นตอนการผลิต และจำหน่ายสินค้าหรือบริการ ทั้งที่ผลิตภายในประเทศและนำเข้าจากต่างประเทศ โดยปัจจุบันประเทศไทยกำหนดให้เก็บในอัตรา 7% ของราคาขายสินค้าหรือบริการ

ซึ่งเมื่อประชาชนไปซื้อสินค้าหรือใช้บริการ ร้านค้า สถานประกอบการ ก็จะมีภาษีมูลค่าเพิ่มหรือ VAT ที่ต้องจ่ายรวมอยู่ในราคาสินค้าและบริการทุกครั้งและเมื่อถึงเวลาในแต่ละปีผู้ขายสินค้า หรือสถานประกอบการจะมีการยื่นเอกสารและเสียภาษีตามกฎหมาย ขณะเดียวกันก็มีการประกอบกิจการประเภทต่าง ๆ ตามมาตรา 81 ประมวลกฎหมายรัษฎากร ที่ให้ได้รับการยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่ม เช่น

• การขายพืชผลทางการเกษตร ไม่ว่าจะเป็น ลำต้น กิ่ง ใบ เปลือก หน่อ ราก เหง้า ดอก หัว ฝัก เมล็ด หรือส่วนอื่น ๆ ของพืช และวัตถุพลอยได้จากพืช

• การขายสัตว์ ไม่ว่าจะมีชีวิตหรือไม่มีชีวิต และในกรณีสัตว์ไม่มีชีวิต ไม่ว่าจะเป็นเนื้อ ส่วนต่างๆ ของสัตว์ ไข่ น้ำนม และวัตถุพลอยได้จากสัตว์

• การให้บริการการศึกษาของสถานศึกษาของทางราชการ

• การให้บริการรักษาพยาบาลของสถานพยาบาลตามกฎหมายว่าด้วยสถานพยาบาล

• การให้บริการห้องสมุด พิพิธภัณฑ์ สวนสัตว์

ทั้งนี้ภาษีมูลค่าเพิ่มหรือ VAT ที่เก็บจะถูกนำไปใช้ประโยชน์ในการพัฒนาประเทศ ได้แก่ นำไปเป็นงบประมาณในการบริหารราชการแผ่นดินในการพัฒนาประเทศ ไม่ว่าจะเป็น งบการศึกษา งบสวัสดิการผู้สูงอายุ งบด้านความมั่นคง งบการขนส่ง งบด้านสาธารณสุข และงบในลักษณะงานอื่นๆ โดยเฉพาะโครงสร้างพื้นฐานและการสนับสนุนการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจและใช้ในการรักษาเสถียรภาพของทางเศรษฐกิจ เช่น การกระตุ้นการจ้างงานในช่วงที่เศรษฐกิจตกต่ำและการป้องกันภาวะเงินเฟ้อ

ขณะเดียวกันเมื่อมีการเสียภาษี ก็มีผู้ที่มีสิทธิขอคืนภาษีมูลค่าเพิ่ม โดยมีคุณสมบัติ คือ

• มีเครดิตภาษีเหลืออยู่ในแต่ละเดือนภาษี

• เสียภาษีมูลค่าเพิ่มไว้เกิน ผิด หรือ ซ้ำ

• มีหน้าที่นำส่งภาษีโดยได้นำส่งภาษีไว้เกิน ผิด หรือ ซ้ำ

• ไม่มีหน้าที่เสียภาษีแต่ได้ชำระภาษีไว้

โดยวิธีการขอคืนภาษีอากร จะแบ่งเป็น 2 แบบ คือ การขอคืนเงินสด ซึ่งจะสามารถทำได้ก็ต่อเมื่อผู้ประกอบการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม ได้ทำการยื่นแบบแสดงรายการภาษีแล้วมีการคำนวณแล้วว่าภาษีซื้อมากกว่าภาษีขายและมีเครดิตภาษีเหลืออยู่ ผู้ประกอบการสามารถขอคืนภาษีเป็นเงินสดได้ หรือจะเลือกให้โอนเข้าบัญชีธนาคารของบริษัทก็สามารถทำได้เช่นกัน โดยผู้ประกอบการจะต้องทำการลงรายมือชื่อในช่องขอคืนภาษีเป็นเงินสดหรือโอนเข้าบัญชีธนาคารของบริษัท และอีกแบบคือขอคืนเครดิต โดยผู้ประกอบการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มที่ยื่นแบบแสดงรายการภาษีแล้ว และมีเครดิตภาษีคงเหลืออยู่จากการคำนวณภาษีในเดือนที่ผ่านมา สามารถนำเครดิตภาษีส่วนนี้ยกไปชำระในเดือนถัดไปได้ และถ้าหากยังมีเครดิตภาษีเหลืออยู่อีก ก็สามารถนำไปชำระภาษีมูลค่าเพิ่มในเดือนถัด ๆ ไปได้เช่นกันจนกว่าเครดิตภาษีที่คงเหลืออยู่จะหมดไป ดังนั้นสำหรับใครที่จะขอคืนภาษีมูลค่าเพิ่มเป็นเครดิตภาษีเพื่อนำไปชำระภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) ในเดือนถัดไป ไม่ต้องลงรายมือชื่อในช่องการขอคืนภาษี แต่ถ้าไม่ได้นำเครดิตภาษีไปชำระภาษีมูลค่าเพิ่มในเดือนถัดไป จะไม่สามารถนำเครดิตภาษีที่เหลืออยู่ไปชำระภาษีในเดือนอื่น ๆ ได้ เช่นมีเครดิตภาษีมูลค่าเพิ่มคงเหลืออยู่ในเดือนมกราคม สามารถนำไปชำระภาษีในเดือนกุมภาพันธ์ได้ แต่ไม่สามารถนำไปชำระภาษีในเดือนมีนาได้ ทั้งนี้หากผู้ประกอบการต้องการขอเครดิตภาษี เพื่อนำไปชำระเดือนมีนาคม ก็สามารถขอคืนเป็นเงินสดได้ โดยการยื่นแบบคำร้อง ค.10

และเพื่อป้องกันการทุจริตในการคืนภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) หน่วยงานที่รับผิดชอบจึงมีการเชื่อมโยงข้อมูลและระบบแจ้งเบาะแส ที่มีการเชื่อมโยงข้อมูลผ่านระบบดิจิทัลระหว่างหน่วยงานจัดเก็บภาษี หน่วยงานที่เกี่ยวกับการนำเข้า-ส่งออก และหน่วยงานด้านการจดทะเบียนพาณิชย์เป็นนิติบุคคล มีระบบการแจ้งเบาะแสที่มีประสิทธิภาพและมีสินบนนำจับในกรณีมีผู้แจ้งเบาะแสการทุจริตเกี่ยวกับภาษี มีการกำหนดมาตรการให้ผู้ประกอบการทุกรายต้องจัดทำใบกำกับภาษี อิเล็กทรอนิกส์และรายงานภาษีซื้อ - ภาษีขายในรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์ เพื่อให้ เจ้าหน้าที่สามารถตรวจสอบได้อย่างมีประสิทธิภาพ มีการเพิ่มกลไกการตรวจสอบ ถ่วงดุล สอบยันในหน่วยจัดเก็บภาษี โดยให้มีการจัดตั้งคณะกรรมการตรวจสอบการคืนภาษีมูลค่าเพิ่ม ซึ่งมีอธิบดีกรมสรรพากร เป็นประธาน ถ้ามีกรณีข้อมูลการส่งออกไม่เพียงพอต่อการพิจารณาการคืนภาษีมูลค่าเพิ่ม กรมสรรพากรจะส่งเรื่องให้กรมศุลกากรตรวจสอบเพิ่มเติมก่อนจึงจะนำมาใช้ อ้างอิง รวมถึงตรวจสอบกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในด้านภาษีหรือการจดทะเบียนเป็นนิติบุคคลของต่างประเทศว่าผู้นำเข้ามีการประกอบการจริงหรือไม่ นอกจากนี้ยังมีการเพิ่มกลไกการตรวจสอบเพิ่มเติมจากมาตรฐานที่มีอยู่เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการตรวจสอบผู้ส่งออกที่มีโอกาสเสี่ยงต่อการทุจริตในการขอคืนภาษีมูลค่าเพิ่ม และกำหนดหลักเกณฑ์เกี่ยวกับการตรวจสอบเกี่ยวกับผู้รับผลประโยชน์ที่แท้จริงเพื่อให้สามารถป้องกันและทราบถึงกรณีตัวแทนการจดทะเบียนบังหน้า

รวมถึงกรมสรรพากรยังมีการออกระเบียบว่าด้วยการจัดทำส่งมอบและเก็บรักษาใบกำกับภาษีอิเล็กทรอนิกส์ หรือใบรับอิเล็กทรอนิกส์รวมทั้งพัฒนาระบบให้บริการจัดทำและนำส่ง e-Tax Invoice & e-Receipt ซึ่งปัจจุบัน กรมสรรพากรให้ผู้ประกอบการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มจัดทำใบกำกับภาษีหรือใบรับอิเล็กทรอนิกส์ โดยความสมัครใจ เนื่องจากผู้ประกอบการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มแต่ละรายมีขนาดธุรกิจแตกต่างกัน นอกจากนี้ กรมสรรพากรยังมีหน่วยงานพิจารณาคืนภาษีทั่วประเทศ สำหรับการจัดตั้งคณะกรรมการตรวจสอบการคืนภาษีมูลค่าเพิ่มตามข้อเสนอแนะของกับคณะกรรมการ ป.ป.ช. จะต้องมีการแก้ไขกฎหมายที่เกี่ยวข้องก่อน เนื่องจากยังมีข้อกำหนดห้ามไม่ให้มีการเปิดเผยข้อมูลของผู้เสียภาษีให้แก่บุคคลอื่นเว้นแต่จะมีอำนาจตามกฎหมาย


image รูปภาพ
image

Line

คะแนนโหวต :
StarStarStarStarStar