มาตรการแก้ปัญหาหนี้สินให้แก่ประชาชน 

 

พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม แถลงภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 18 มิ.ย.64 ว่าได้นำเรื่องปัญหาหนี้สินของประชาชนเสนอต่อที่ประชุมครม.เพื่อรับทราบ เนื่องจากมองเห็นถึงปัญหาของประเทศ ถ้าประชาชนยังมีหนี้สินเป็นจำนวนมาก และมีหนี้ตั้งแต่อายุน้อย ต่อไปจะมีผลต่อทั้งชีวิตของเขา ซึ่งเรื่องเหล่านี้รัฐบาลได้พยายามแก้ไขปัญหามาโดยตลอด เช่น หนี้นอกระบบ ซึ่งต้องเข้มงวดมากยิ่งขึ้นและต้องปฏิบัติตามกฎหมายทุกประการ ดังนั้น จะต้องแก้ปัญหาในภาพรวมให้ครอบคลุมทั้งระบบ

สำหรับหนี้สินของประชาชน แบ่งตามกลุ่มต่าง ๆ ดังนี้

- หนี้ กยศ. 3.6 ล้านคน ผู้ค้ำประกัน 2.8 ล้านคน

- หนี้ครู/ข้าราชการ 2.8 ล้านบัญชี

- หนี้เช่าซื้อรถยนต์และมอเตอร์ไซค์ 6.5 ล้านบัญชี

- หนี้บัตรเครดิตและสินเชื่อส่วนบุคคล 49.9 ล้านบัญชี

- ปัญหาหนี้สินอื่น ๆ ของประชาชน 51.2 ล้านบัญชี

มาตรการระยะสั้นแก้ปัญหาหนี้ใน 6 เดือน

นายกฯ ระบุว่า สำหรับมาตรการแก้ไขปัญหาหนี้ มาตรการระยะสั้นต้องเร่งทำให้เกิดขึ้นภายใน 6 เดือน เช่น การลดภาระดอกเบี้ยของประชาชน คือสินเชื่อรายย่อย สินเชื่อพิโกไฟแนนซ์ และนาโนไฟแนนซ์ สำหรับประชาชนต้องมีการปรับลดดอกเบี้ยเงินกู้ในส่วนของครูและข้าราชการต้องดูหนี้สินที่มีกับสหกรณ์ออมทรัพย์ ซึ่งต้องปรับรูปแบบการชำระหนี้ คุ้มครองเพื่อให้เกิดความเป็นธรรม กรณีเหล่านี้จะรวมไปถึงหนี้เช่าซื้อรถยนต์และจักรยานยนต์ด้วย จึงได้ขอให้ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ทบทวนเพดานอัตราดอกเบี้ย และการกำกับดูแลธุรกิจบัตรเครดิต สินเชื่อส่วนบุคคล และสินเชื่อจำนำทะเบียนรถ แนะไกล่เกลี่ยหนี้เพื่อลดคดีให้ประชาชน

พล.อ. ประยุทธ์ กล่าวด้วยว่า การไกล่เกลี่ยหนี้เพื่อลดการดำเนินคดีกับประชาชน เช่น หนี้ กยศ., หนี้สถาบันการเงินเฉพาะกิจ, หนี้สหกรณ์ และให้เพิ่มการเข้าถึงแหล่งเงินทุนแก่ผู้ประกอบการรายย่อย SMEs จัดให้มี Soft Loan สำหรับ SMEs ที่เป็นหนี้ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) เพื่อให้ธุรกิจดำเนินต่อไปได้ นอกจากนี้จะต้องไปดูการเพิ่มจำนวนโรงรับจำนำและจัดทำโรงรับจำนองเพิ่มขึ้น เพื่อดูแลผู้มีรายได้น้อย แต่มีที่ดินจำนวนจำกัดอยู่ ซึ่งจะช่วยให้กลุ่มคนเหล่านี้เข้าถึงสินเชื่อได้

มาตรการระยะยาวเน้นแก้ปัญหาครอบคลุมทุกส่วน

ส่วนมาตรการระยะยาว การเร่งส่งเสริมการแข่งขันให้อัตราดอกเบี้ยถูกลง การให้ความช่วยเหลือเด็กรุ่นใหม่ คนเกษียณที่มีภาระหนี้สิน โดยจะต้องออกมาตรการลดภาระค่าใช้จ่ายเรื่องที่อยู่อาศัย ค่าเดินทางระบบขนส่งมวลชนให้มีราคาถูกลง ตลอดจนการจัดตั้งหน่วยงานขึ้นมาใหม่ เพิ่มการดูแลสินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์และสินเชื่อรายย่อยเป็นการเฉพาะ การจัดตั้งศูนย์ไกล่เกลี่ยข้อพิพาททางธุรกิจและการเงินเพื่อชะลอการฟ้อง อำนวยความสะดวกให้การฟื้นฟูหนี้รายบุคคลที่มีเจ้าหนี้หลายราย

นายกรัฐมนตรี ย้ำด้วยว่า หนี้ครัวเรือนในปัจจุบัน มีข้อมูลว่าก่อนปี 2557 มีอัตราเพิ่มขึ้นเดือนละ 8.8 หมื่นล้านบาท แต่จากปี 2557 จนถึงปัจจุบัน มีการเพิ่มขึ้นเดือนละประมาณ 5 หมื่นล้านบาท

ชี้แก้หนี้สำเร็จช่วยให้ประชาชนมีชีวิตดีขึ้น

ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 14 มิ.ย. ที่ผ่านมา นายกรัฐมนตรีได้ประชุมร่วมกันนายนายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.พลังงาน กระทรวงการคลัง ธนาคารแห่งประเทศไทย และผู้เกี่ยวข้องเพื่อหาทางแก้ไขปัญหาหนี้สินของประชาชนรายย่อยใน 5 กลุ่มดังกล่าว ซึ่งที่ประชุมเห็นว่าการแก้ไขปัญหาหนี้ครัวเรือนให้เบ็ดเสร็จต้องทำ 3 เรื่องควบคู่กัน คือการให้ความรู้ทางการเงินแก่ประชาชน การกำกับดูแลเจ้าหนี้ให้สินเชื่ออย่างเป็นธรรม และการปรับโครงสร้างหนี้และการไกล่เกลี่ยปัญหาหนี้สิน

หากมาตรการแก้ปัญหาหนี้สินสำเร็จ ประโยชน์ที่คนไทยจะได้รับ

1. มีเงินเหลือใช้จ่ายมากขึ้นจากภาระหนี้ที่ดอกเบี้ยลดลงได้ 2-3% ต่อปี

2. ลดปัญหาการสร้างหนี้เกินตัวลงได้ทันที

3. เพิ่มโอกาสทางสังคมและลดความเหลื่อมล้ำอย่างเป็นรูปธรรม

4. ใช้การจัดการเพิ่มประสิทธิภาพของรัฐมาแก้ไขปัญหารากแก้วโดยใช้งบประมาณรัฐน้อยที่สุด


image รูปภาพ
image

Line

คะแนนโหวต :
StarStarStarStarStar