ครม.ไฟเขียวร่างแก้ไข พ.ร.บ.ประกันสังคมให้ใช้ประโยชน์จากเงินสมทบได้ก่อนชราภาพ

ครม. เห็นชอบร่าง พ.ร.บ.ประกันสังคม ฉบับใหม่ เปิดทางให้ผู้ประกันตนมีสิทธิเลือกรับบำเหน็จ บำนาญชราภาพ หรือใช้เงินสมทบที่สะสมในกองทุนประกันสังคมมาเป็นหลักประกันการกู้เงินกับสถาบันการเงินได้ รวมทั้งสามารถนำเงินกรณีชราภาพที่ตนสมทบอยู่ในกองทุนประกันสังคมออกมาใช้ก่อนบางส่วน เพื่อเพิ่มทางเลือกให้กับผู้ประกันตน ซึ่งเดิมมีเพียงแค่ตัวเลือกเดียวคือการรับเงินบำนาญเท่านั้น ขณะเดียวกันแก้ไขเพิ่มเติมประเภทของประโยชน์ทดแทนในกรณีชราภาพ เป็น 3 ประเภท จากเดิม 2 ประเภท ได้แก่เงินบำนาญชราภาพ และเงินบำเหน็จชราภาพ โดยเพิ่ม “เงินบำนาญจ่ายล่วงหน้า”และแก้ไขเพิ่มเติม สิทธิประโยชน์ กองทุนประกันสังคมกรณีชราภาพ ให้ผู้ประกันตน สามารถได้รับเงินบำนาญชราภาพ หรือเงินบำเหน็จชราภาพ หรือนำเงินกรณีชราภาพบางส่วนออกมาใช้ก่อน หรือเป็นหลักค้ำประกันในการกู้เงินธนาคาร หรือสถาบันการเงิน เรียกว่า 3 ขอ คือ

1. ขอเลือก : ให้ผู้ประกันตนที่มีอายุครบ 55 ปีบริบูรณ์ สามารถเลือกรับเงินบำนาญชราภาพหรือเงินบำเหน็จชราภาพ เพื่อเปิดทางให้ผู้ประกันตนมีสิทธิเลือกรับเงินได้ โดยต้องเป็นผู้ประกันตนนำส่งเงินสมทบครบตามเงื่อนไข

2. ขอคืน : ให้ผู้ประกันตนสามารถนำเงินกรณีชราภาพบางส่วนมาใช้ก่อนมีอายุครบ 55 ปีบริบูรณ์

3. ขอกู้ : ให้ผู้ประกันตนสามารถนำเงินกรณีชราภาพบางส่วนไปเป็นหลักค้ำประกันการกู้เงินกับธนาคารหรือสถาบันการเงินได้

ซึ่งโครงสร้างประชากรไทยที่กำลังเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ ส่งผลให้มีจำนวนแรงงานลดลง ในขณะเดียวกันตัวเลขของกลุ่มผู้สูงอายุและผู้รับบำนาญเพิ่มขึ้น เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของสังคมผู้สูงอายุให้ยั่งยืนและสร้างความมั่นคงให้กับลูกจ้างผู้ประกันตนเมื่อต้องเข้าสู่วัยเกษียณ จึงได้ขยายกรอบอายุขั้นสูงของผู้ประกันตน ที่เป็นลูกจ้างจากเดิมอายุ 60 ปีบริบูรณ์ เป็นอายุ 65 ปีบริบูรณ์ เพื่อเปิดโอกาสให้แรงงานกลุ่มผู้สูงอายุ ได้รับความคุ้มครองในระบบประกันสังคมเพื่อให้สอดรับกับสภาพเศรษฐกิจและสังคมที่เปลี่ยนแปลงไป จึงได้เพิ่มสิทธิประโยชน์กรณีอื่นๆ เพื่อเป็นการบรรเทาความเดือดร้อนให้ผู้ประกันตนมีหลักประกันทางสังคมและได้รับสิทธิประโยชน์ภายใต้ระบบประกันสังคมที่มีการพัฒนาเพิ่มมากขึ้น ได้แก่

1. เพิ่มประโยชน์ทดแทนในกรณีทุพพลภาพ เพิ่มเงินทดแทนการขาดรายได้ กรณีทุพพลภาพ จากร้อยละ 50 ของค่าจ้างเป็นร้อยละ 70 ของค่าจ้าง

2. เพิ่มระยะเวลาในการจ่ายเงินสงเคราะห์การหยุดงาน เพื่อการคลอดบุตร โดยเหมาจ่ายในอัตราร้อยละ 50 ของค่าจ้าง ระยะเวลา 90 วัน เป็นระยะเวลา 98 วัน หรือระยะเวลาตามที่กำหนดในกฎกระทรวง

3. ขยายรับประโยชน์ทดแทนในกรณีสงเคราะห์บุตร โดยให้ผู้ประกันตนที่สิ้นสภาพการเป็นลูกจ้างและภายหลังการสิ้นสภาพเป็นผู้ประกันตน ได้รับประโยชน์ทดแทนในกรณีที่สงเคราะห์บุตรต่อไปอีก 6 เดือน

การแก้ไข พ.ร.บ.ประกันสังคมครั้งนี้ เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนให้ผู้ประกันตน สร้างความมั่นใจในหลักประกันทางสังคมและได้รับสิทธิประโยชน์ภายใต้ระบบ และลดความเหลื่อมล้ำในสังคม สร้างโอกาส การเข้าถึงบริการ จากภาครัฐ รวมทั้งเป็นการจัดรัฐสวัสดิการที่เหมาะสมรองรับสังคมสูงอายุอีกด้วย

นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน กล่าวว่า ข้อเสนอครั้งนี้เป็นการแก้ไขกฎหมายฉบับปัจจุบันที่ใช้มาตั้งแต่ปี 2533 หรือ 32 ปีที่ผ่านมา ซึ่งเดิมกองทุนชราภาพไม่สามารถทำอะไรได้เลย ต้องรอส่งเงินเกิน 180 เดือน หรืออายุ 55 ปี จึงจะได้เป็นบำนาญแต่ใครส่งไม่ถึงจะได้บำเหน็จ กลายเป็นไม่มีประตูให้เขาได้เลือก จึงแก้ให้สามารถเลือกได้ คือพออายุ 55 ปี หากมีหนี้สินต้องใช้เงินก้อนให้เขาสามารถเลือกได้ว่าจะเอาบำเหน็จหรือบำนาญ ส่วนที่สองคือขอกู้ ยกตัวอย่างว่ามีเงินชราภาพอยู่ 200,000 บาท แต่เราไม่มีเงินสด ไม่มีเครดิตจะไปกู้สถาบันการเงิน ก็สามารถใช้สิทธิ์ในเงินชราภาพไปค้ำประกันในการขอเงินกู้ได้ ไม่ต้องไปกู้เงินนอกระบบ


image รูปภาพ
image

Line

คะแนนโหวต :
StarStarStarStarStar