ฉี่หนูโรคที่หน้าฝนที่มากับน้ำท่วมขัง

ฤดูฝน เริ่มตั้งแต่กลางเดือนพฤษภาคม ถึงกลางเดือนตุลาคม เป็นช่วงที่มีลมมรสุมตะวันตำเฉียงใต้ ซึ่งเป็นลมร้อนชื้น พัดมาจากมหาสมุทรอินเดีย ปกคลุมประเทศไทยร่องความกดอากาศต่ำที่พาดผ่านบริเวณใต้ของประเทศไทย จะเลื่อนมาถึงภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ทำให้มีฝนตกชุกชื้น เดือนที่มีฝนตกมากที่สุดคือ เดือนสิงหาคม ซึ่งเมื่อมีฝนก็จะมีไปชะล้างเอาเชื้อโรคต่าง ๆ จากสภาพพื้นที่ไหลไปรวมกันขังอยู่ตามสถานที่ต่าง ๆ หนึ่งในนั้นคือ โรคฉี่หนู (Leptospirosis) ที่เกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรียชนิดหนึ่ง ที่เกิดขึ้นได้ทั้งในคนและสัตว์ โดยการติดเชื้อในคนมีสาเหตุมาจากการไปสัมผัสดิน น้ำ อาหารที่ปนเปื้อนปัสสาวะ เลือด หรือเนื้อเยื่อของของสัตว์ที่มีเชื้อ เช่น สุนัข วัว ควาย หนู สุกร ม้า หรือแม้กระทั่งสัตว์ป่าต่างๆ โดยผู้ที่ได้รับเชื้อโรคฉี่หนูจะไม่มีอาการหรือมีอาการน้อย มีเพียงประมาณ 10-15% ที่จะมีอาการรุนแรง

ทั้งนี้เมื่อเชื้อเข้าสู่ร่างกาย เชื้อจะเข้าสู่กระแสเลือดและกระจายไปยังอวัยวะต่างๆ ของร่างกาย จากนั้นจะมีระยะฟักตัวก่อนเกิดอาการ ซึ่งจะเร็วหรือช้าในแต่ละคนจะไม่เท่ากัน บางรายมีอาการเร็วภายใน 2 วัน บางรายนานหลายสัปดาห์ หรือบางรายอาจจะเป็น 1 เดือน แต่โดยส่วนใหญ่แล้วจะเริ่มมีอาการประมาณ 1-2 สัปดาห์หลังจากรับเชื้อ และลักษณะอาการ ก็แตกต่างกันไป ทั้งไม่มีอาการเลย มีอาการเล็กน้อย มีอาการมาก อาการรุนแรง มีภาวะแทรกซ้อน และในบางรายเป็นอันตรายถึงขึ้นชีวิต

โดยอาการเด่น ๆ จะมี 2 ระยะ คือระยะแรกผู้ป่วยจะมีอาการไข้สูง หนาวสั่น

ปวดศีรษะ ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ ปวดหลัง ปวดหน้าท้อง ปวดต้น ขา ปวดน่อง เจ็บคอ เจ็บหน้าอก ไอ คลื่นไส้ อาเจียน ตาแดง เยื่อบุตาบวม มีผื่น ต่อมน้ำเหลืองโต ตับโตและม้ามโต ซึ่งอาการมักเป็นหลายอย่าง ๆ ร่วมกัน ไม่เฉพาะเจาะจงกับอวัยวะใดอวัยวะหนึ่ง คล้ายๆ กับอาการของโรคไข้หวัดใหญ่ ไข้เลือดออก มาลาเรีย ไข้ไทฟัส (ไข้รากสาดใหญ่) ซึ่งอาการระยะแรกนี้มักจะเป็นอยู่ประมาณ 1 สัปดาห์ แล้วอาการจะดีขึ้น แต่หลังจากนั้น 2-3 วัน ผู้ป่วยจะมีอาการในระยะที่ 2 ตามมา คือ อาการที่เกิดจากภูมิคุ้มกันของตนเอง ซึ่งมักทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนรุนแรงได้หลายอย่าง เช่น การเกิดภาวะเยื่อหุ้มสมองอักเสบ ตาอักเสบ หลอดเลือดอักเสบ ปอดอักเสบ กล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ เลือดออกในเนื้อปอด ตัวเหลืองตาเหลือง หรือภาวะดีซ่าน ไตวายเฉียบพลัน ภาวะเลือดออกง่ายตามอวัยวะต่างๆ และอาจทำให้อวัยวะต่างๆ ทำงานล้มเหลวและเป็นอันตรายถึงชีวิตในที่สุด

ดังนั้น เพื่อเป็นการป้องกันโรค เราควรหลีกเลี่ยงเดินไปในที่น้ำขัง ที่มีน้ำสกปรก และควรล้างเท้าด้วยน้ำสบู่หลังย่ำน้ำสกปรก หรือหากสงสัยว่ามีอาการของโรคฉี่หนู ควรพบแพทย์เพื่อตรวจรักษาทันที


image รูปภาพ
image

Line

คะแนนโหวต :
StarStarStarStarStar