สื่อการสอนสมัยใหม่ ถูกใจวัยเรียน

ในการนำเครื่องมือและเทคโนโลยีเข้ามาใช้กับการเรียนการสอน เพื่อสร้างประสบการณ์การเรียนรู้ที่มีส่วนร่วม ทำให้ห้องเรียนในปัจจุบันได้ก้าวไปไกลกว่าการใช้คอมพิวเตอร์เพียงอย่างเดียวแล้ว เพราะตอนนี้เทคโนโลยีได้เข้ามามีบทบาทและช่วยอำนวยความสะดวกให้กับการเรียนมากขึ้น ครูผู้สอนสามารถจัดเตรียมมัลติมีเดีย เพื่อจัดการกับรูปแบบการเรียนรู้ที่มีความหลากหลาย เช่น แอนิเมชัน วิดีโอ การ Live และยังช่วยให้ผู้สอนสร้างหลักสูตรออนไลน์ ที่ผู้เรียนสามารถเรียนรู้ในพื้นที่ของตนเองตามโอกาสและสไตล์ที่เหมาะสม ซึ่งมีทั้งการใช้หลักสูตรออนไลน์แบบโต้ตอบ ที่ผู้เรียนเชื่อมต่อกับผู้สอนหรือสิ่งที่เรียน มีการแลกเปลี่ยนความคิดเห็น ที่จะช่วยให้เกิดการเรียนการสอนที่มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น หรือแม้แต่การใช้ AI เข้ามาช่วยจดบันทึก และบันทึกการบรรยายสำหรับนักเรียนที่ป่วยได้ วันนี้เราจะพามาดู 5 สื่อการสอนสมัยใหม่ถูกใจวัยเรียนในยุคนี้กัน

1. พอดคาสต์ (Podcast) ที่กำลังเป็นเทรนด์ใหม่ น่าจับตามองอย่างยิ่ง เพราะมีหัวข้อที่น่าสนใจและสะดวกต่อผู้ใช้มากโดยเป็นรูปแบบหนึ่งของการเรียนรู้ ที่ทำผ่านการบันทึกเสียงสนทนาในหัวข้อเฉพาะ มักพบใน iTunes และ Spotify อยู่บ่อย ๆ หรือบนเว็ปไซต์ต่าง ๆ โดยจุดเด่นของพอดคาสต์คือทุกคนสามารถฟังได้ทุกที่ทุกเวลา ไม่ว่าจะขณะเดินทางไปทำงาน หรือแม้กระทั่งขณะทำงาน เพียงแค่คุณเปิดในมือถือเหมือนกับเปิดเพลงจากแอปพลิเคชันต่าง ๆ โดยเนื้อหาของพอดคาสต์ถึงแม้จะมีความเฉพาะเจาะจงในหัวข้อ แต่มีความหลากหลาย และกว้างขวางให้เราเลือกฟังมาก ๆ คุณสามารถเรียนประวัติศาสตร์ ภาษา ธุรกิจ เทรนด์ต่าง ๆ หรือแม้กระทั่งการพัฒนาทักษะเฉพาะของตัวเอง

2. โซเชียลมีเดีย ที่เข้ามาช่วยสร้างวัฒนธรรมการทำงานร่วมกัน และการแบ่งปันความรู้ นำไปสู่ประสบการณ์การเรียนรู้ของผู้เรียนได้ดีมากยิ่งขึ้น ที่ปัจจุบันไม่ว่าจะเป็นทั้งเด็กและผู้ใหญ่ ใช้เวลากับโซเชียลมีเดียเพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ จึงกลายเป็นอีก 1 เครื่องมือ สำหรับการเรียนรู้ได้เป็นอย่างดี สถาบันการศึกษาหลายแห่งเริ่มใช้โซเชียลมีเดียเป็นเครื่องมือสื่อสารที่เปิดโอกาสให้นักเรียนได้โต้ตอบกับครูผู้สอน ตลอดจนเพื่อนร่วมชั้น เช่น ใน Facebook นักเรียนสามารถแชร์สื่อการเรียน พูดคุยกับคนอื่นๆ ในกลุ่ม หรือแสดงความคิดเห็นในโพสต์ของคนอื่นได้ง่าย ๆ นอกจากนี้ก็ยังมีการโพสต์วิดิโอที่เป็นความรู้ลงบน YouTube ซึ่งทุกคนสามารถค้นหา และเข้าถึ เพื่อแบ่งปันความรู้กับเพื่อนคนอื่น ๆ ได้อย่างง่ายดาย หรือจะเป็นการติดตามข่าวสารบน Twitter ที่หลาย ๆ คนทำมานานแล้ว

3. สตรีมมิ่ง (Streaming) ที่เป็นการรับส่งสัญญาณ ส่งไฟล์มัลติมีเดียร์ทั้งภาพและเสียงผ่านเครือข่ายระบบอินเทอร์เน็ตด้วยการใช้เทคโนโลยีต่าง ๆ ซึ่งไม่ต้องมีการ Download ไฟล์ทั้งหมดจนครบ หรือพูดแบบให้เข้าใจง่ายก็คือการถ่ายทอดสด หรือเรียกกันว่า Live (ไลฟ์) ไม่ว่าจะบน Facebook Youtube หรือแพลทฟอร์มอื่น ๆ ด้วยการใช้เทคนิคสตรีมมิ่งจะทำให้เราสามารถรับชมวีดีโอทั้งหมดที่ผ่านการ Upload ผ่านอินเทอร์เน็ตมายังอุปกรณ์ของผู้เรียนโดยที่ไม่ต้อง Dowload ไฟล์มาลงบนเครื่อง ซึ่งการสตรีมมิ่งก็สามารถทำได้ผ่านอุปกรณ์มากมายที่รองรับ เช่น สมาร์ทโฟน, คอมพิวเตอร์, แท็บเล็ต และสมาร์ททีวี สามารถรับชมได้โดยไม่มีการจำกัดเวลาและสถานที่ เป็นการเพิ่มความสะดวกสบายของการเรียนรู้ ที่เอื้อให้ผู้เรียนทำงานร่วมกับผู้อื่นได้เป็นอย่างดี ในสภาพแวดล้อมที่ปลอดภัยสำหรับผู้เรียน ก่อให้เกิดการแสดงความคิด และพัฒนาการคิดนอกกรอบและการออกแบบที่สร้างสรรค์

4. ปัญญาประดิษฐ์ (AI) ที่ปัจจุบันมีการเติบโตอย่างต่อเนื่อง เป็นโปรแกรมสมองกลที่แสนฉลาด มีวิธีการทำงานเหมือนสมองมนุษย์ สามารถคิด วิเคราะห์ วางแผน และตัดสินใจ ได้โดยการประมวลผลจากฐานข้อมูลขนาดใหญ่ที่มี ซึ่งปัจจุบันอยู่รอบตัวเราและใช้งานแทบทุกวัน อย่างเช่น SearchEngine ยักษ์ใหญ่อย่าง Google ที่ในระหว่างกรอกคำค้นหาลงไป AI ของ Google ก็จะวิเคราะห์ข้อมูลจากคลังที่มีเว็บไซต์จำนวนมหาศาล และแสดงผลในสิ่งที่เราต้องการเพียงแค่เสี้ยววินาที โดยปัจจุบัน AI สามารถสร้าง เนื้อหาการสอน ที่มีความสมบูรณ์เทียบเท่ากับครูที่เป็นมนุษย์ในเวลาที่น้อยกว่า แถมยังสามารถแปลงหนังสือเรียนให้เหมาะสมกับนักเรียนในแต่ละช่วงอายุได้อีกด้วย นอกจากนี้ในปัจจุบันยังมีแอปพลิเคชันที่มีชื่อว่า Netex Learning ที่คอยช่วยอาจารย์ผู้สอนในการออกแบบหลักสูตรการเรียนการสอนโดยใช้อุปกรณ์ช่วยหลายชนิด เช่น สื่อเสียง วิดีโอ และมีผู้ช่วยออนไลน์ รวมถึงครูผู้ช่วยคนใหม่ที่ชื่อว่า จิลล์วัตสัน ผู้ที่สามารถตอบคำถามทุกคำถามด้วยความรวดเร็วและถูกต้อง ซึ่งนักเรียนสามารถถามคำถามกับเขาได้ตลอดเวลาเพราะครูผู้ช่วยคนนี้แท้จริงแล้วคือ AI ที่บรรจุคำถามและคำตอบมากมายเกี่ยวกับวิชาเรียนที่ นักเรียนสามารถสอบถามข้อมูลต่าง ๆ เกี่ยวกับวิชาเรียนได้อย่างถูกต้องแม่นยำ ซึ่ง เป็นการลดภาระในการตอบคำถามของครู

5. เกมมิฟิเคชัน (Gamification) การใช้เทคนิคและกลไกของเกม เพื่อสร้างแรงจูงใจและกระตุ้นให้เกิดปฏิสัมพันธ์ระหว่างผู้จัดกิจกรรมและผู้ร่วมกิจกรรม เป็นหนึ่งในเครื่องมือทางการตลาดที่ถูกใช้อย่างกว้างขวางในต่างประเทศ และแม้แต่หลายองค์กรในประเทศไทยเอง ด้วยเป็นหนึ่งในทางออกที่สามารถยกระดับการเรียนการสอนให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น เพราะเป็นการใช้เทคนิคในรูปแบบของเกมโดยไม่ใช้ตัวเกม เพื่อเป็นสิ่งที่ช่วยในการกระตุ้นและสร้างแรงจูงใจในการเรียนรู้ให้กับผู้เรียน ทำให้ผู้เรียนมีส่วนร่วมในการเรียนรู้ด้วยวิธีการที่สนุกสนาน ใช้กลไกของเกมเป็นตัวดำเนินการอย่างไม่ซับซ้อน อันจะทำให้ผู้เรียนเกิดพฤติกรรม ตรวจสอบ ปรับปรุง และหาวิธีการแก้ไขปัญหา เกมมิฟิเคชั่น เป็นการนำเอาหลักการพื้นฐานในการออกแบบกลไกการเล่นเกม เช่น แต้มสะสม (Points) ระดับขั้น (Levels) การได้รับรางวัล (Rewards) กระดานผู้นำ (Leaderboards) หรือจัดการแข่งขันระหว่างผู้เข้าร่วม (Competition) เป็นต้น มาประยุกต์ใช้ในบริบทอื่นที่ไม่ใช่การเล่นเกม โดยจำลองสภาพแวดล้อมให้เสมือนการเล่นเกม

จะเห็นว่า เทคโนโลยีได้แทรกซึมเข้าสู่การศึกษา และได้ปรับปรุงกระบวนการเรียนการสอนทั้งหมด โดยเฉพาะ E-Learning ซึ่งเป็นสื่อการสอนที่ไม่เพียงเพิ่มการเข้าถึง และความสะดวกในการศึกษาเท่านั้น แต่ยังเปลี่ยนพฤติกรรมการเรียนรู้ และความปรารถนาของผู้เรียนในการเรียนอีก


image รูปภาพ
image

Line

คะแนนโหวต :
StarStarStarStarStar